ตำบลทุ่งมน ของ ตำบลทุ่งมน (อำเภอปราสาท)

ลักษณะภูมินิเวศน์ตำบลทุ่งมน เป็นพื้นที่มีลำน้ำชีว์น้อยไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก และมีลำห้วยโอก็วลที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาพนมดงรักที่ไหลมารวมกับลำน้ำชีว์น้อยทางด้านทิศตะวันตก ด้วยความยาวที่คดเคี้ยวระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร อีกทั้งภูมินิเวศน์ของบ้านทุ่งมน มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง เนินเขา มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังสลับทุ่งหญ้าและบริเวณที่ราบริมน้ำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (west land) ภาษาถิ่นเรียกว่า “ปรีระเนียมหรือ ดบกุมพะเนง” หรือป่าทามในภาษาอีสาน ด้วยเป็นลูกเขาเนินเตี้ยที่เกิดจากการดันตัวของเปลือกโลก มีสภาพเป็นดินลูกรังและมีหินโผล่ ประเภทหินอัคนี หินปูนกระจายอยู่ทั่วไป และมีพื้นที่ป่าไม้กระจายครอบคลุมกว้างและมีความอุดมสมบูรณ์จึงกลายเป็นพื้นที่ต้นน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 15,600 ไร่ พื้นที่ลาดลงต่ำไปรอบ ๆ พื้นที่กลายเป็นแหล่งน้ำซับ ตาน้ำ ร่องน้ำสั้น ๆ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของลำห้วยโอก็วล ทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นร่องน้ำและไหลรวมกับลำน้ำชีว์น้อยตามลำดับ จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ชุมชนบ้านทุ่งมนปรากฏร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี แสดงความเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ถือได้ว่าเป็นชุมชนโบราณ จากการสำรวจศึกษาข้อมูลเบื้องต้นโดยคณะทำงานชาวบ้าน โดยกระบวนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านทุ่งมน พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในชุมชนแต่ไม่ทราบความเป็นมาในการสืบค้น เพียงแต่รู้ว่ามีมานานแล้ว คาดการกันว่าอย่างน้อยบริเวณนี้น่าจะได้รับวัฒนธรรมขอมเพราะคนส่วนใหญ่ที่นี้ก็พูดภาษาถิ่น เขมร เมื่อเทียบเคียงกับงานศึกษาของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เช่น แอ่งอารยธรรมอีสาน, ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม, บรรดาแหล่งโบราณสถานรวมถึงบริเวณการขุดพบ วัตถุโบราณ ฯลฯ เป็นต้น อาจจำแนกได้เป็น 6 ประเภท

เสาหลักหิน

จากการสำรวจพบหลักศิลาในเขตตำบลทุ่งมน 2 จุด ที่บริเวณบ้านสะพานหัน ภาษาถิ่นเรียกว่า “สเปียลฮาล” ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านข้างลำห้วยชีว์น้อย และตรงข้ามบ้านสะพานหัน เขตตำบลไพศาล อำเภอประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ 1 จุด ทั้ง 3 จุดนี้อยู่ห่างระหว่างกันแต่ละจุดประมาณ 2 กิโลเมตร หลักศิลาที่พบบ้านสะพานหัน จุดแรกข้างลำห้วยชีว์น้อยก่อนข้ามสะพานไปตำบลตานี ประมาณ 100 เมตรอยู่ในที่ดินของนายปลิงว่าหนักแน่น เดิมมีประมาณ 5 หลัก วางตำแหน่งเป็นกลุ่มห่างกันประมาณหลักละ 1 เมตรมีเสาหลักหินกลางตามคำบอกเล่ามี รูปภาพจำหลักตรงเสากลางและเสาทางทิศตะวันออก และมีภาษาขอมจารึกเอาไว้ด้วยที่เสากลาง ส่วนเสาที่ล้อมรอบไม่มีรูปภาพจำหลักอีก 3 เสาหลักหิน สภาพปัจจุบันเสาที่มีภาพจำหลักและภาษาขอมถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วขณะนี้ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใหน 2 หลัก เหลือเพียง 3 หลักเท่านั้น

จุดที่สองพบที่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ข้างลำห้วยชีว์น้อยห่างประมาณ 100 เมตร อยู่ในที่ดินของลุงมี ทวีฉลาด จากคำบอกเล่าเดิมมี 7หลัก มีรูปภาพจำหลักบนเสาหลักหิน 2 เสาปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออก มีภาษขอมจารึก เสาหลักหกลาง มีฐานสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นแปดเหลี่ยมยอดบนสุดมีลักษณะกลม ๆ วางตำแหน่งเป็นวงกลมห่างกันประมาณหลักละ 1 เมตรมีเสาหลักหินตรงกลาง 1 หลัก ล้อมรอบ 6 หลัก สภาพปัจจุบันเสากลางและเสาที่มีภาพจำหลักและภาษาขอมได้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วเช่นกันขณะนี้ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใหน เหลืออยู่บริเวณเดิม 3 หลัก อยู่ที่วัดสุทัศน์วนาราม 2 หลัก ลักษณะเสาหลักหินเป็นหินกรวดตัดแท่งสี่เหลี่ยม มีรอยขีดกึ่งกลาง 2 ขั้นรอบวง ขนาดสูงประมาณ 1.50 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตรคาดว่าใช้เป็นเสาหลักเขตแดน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก็อาจเป็นได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวปรากฏว่าหินกรวด หินศิลาแลงและมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาใช้โบราณ ประเภทไห หม้อโบราณ เครื่องประดับ เครื่องมือเหล็กที่ฝังอยู่ในไห เทวรูปและทองสัมฤทธิ์รวมอยู่ด้วย

ถนนโบราณ

จากการสำรวจศึกษาชุมชนบ้านทุ่งมนมีการปรากฏพบร่องรอยถนนโบราณ คันดินขนาดใหญ่ที่เป็นถนนโบราณที่เชื่อมต่อระหว่างโคกต่าง ๆ มากมาย ที่ยังสามารถมองเห็นร่องรอยชัดเจนมากคือ เส้นทางฝั่ง ต.ไพศาล อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ตรงข้ามบ้านสะพานหัน ปัจจุบันสภาพถนนโบราณดังกล่าวได้มีการทำถนนสร้างทับไปเรียบร้อยแล้ว และปรากฏว่ามีร่องรอยสะพานเก่าแก่เมื่อสมัยก่อนที่เชื่อมกับถนนโบราณนี้ ยาวถึง 200 เมตร บริเวณนั้นยังปรากฏเสาหลักหินบริเวณข้างลำห้วยชีว์น้อย 1 หลัก ขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายไปอยู่กลางหมู่บ้านสะพานหันแล้วเมื่อต้นปี 2547 และได้มีการสันนิษฐานว่าร่องรอยสะพานเก่าที่ยังคงปรากฏอยู่น่าจะเป็นเส้นทางเชื่อมลำชีว์น้อยเพื่อเดินทางข้ามชุมชนด้านฝังตะวันออก มีโคกจ๊ะ (โคกเก่า) ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ในชุมชนบ้านทุ่งมน/สมุดด้วย และยังพบว่าถนนเก่าที่ปัจจุบันชุมชนไม่ค่อยได้ใช้แล้วคือถนนที่เชื่อมโคกจ๊ะกับบ้านทุ่งมน ทั้งยังมีร่องรอยเสาสะพานขนาดใหญ่เก่าแก่ใช้ข้ามลำห้วยโอก็วลไปบ้านทุ่งมน และยังพบเสาไม้กลางหนองน้ำโคกแกหมอบมีการสันนิษฐานของชุมชนว่าเป็นเสาโบสถ์หรือศาลากลางน้ำ

พบเส้นทางเกวียนเชื่อมต่อของชุมชนโคกเมืองที่มีคูเมืองล้อมรอบหมู่บ้าน 1 ชั้นผ่านบ้านตาเจียดไปทางทิศใต้ 1 เส้น นอกจากนั้นยังสำรวจพบเส้นทางโบราณที่ใช้สัญจรเดินทางข้ามลำห้วยชีว์น้อยเชื่อมกันระหว่างฝั่งบ้านทุ่งมนกับฝั่งอำเภอพลับพลาชัยอีกหกเส้นทาง จะเป็นร่องทางขึ้นลงห้วยชีว์น้อยที่ ด่าน, ตรำปรง, ละลมกก, กันเตรียง, สมอง และที่บ้านกำไสจานอีกเส้นทางหนึ่งรวมอยู่ด้วย ห่างจากบ้านกำไสจานข้ามลำห้วยชีว์น้อยไปประมาณ 2 กิโลเมตรฝั่งพลับพลาชัยพบปราสาทขนาดเล็กปรากฏอยู่ นอกจากนี้เส้นทางถนนเป็นทางเกวียนเลาะไปตามลำชีว์ตั้งแต่ฝั่งบ้านตาเจียดไปบ้านสะพานหันที่ทะลุไปข้ามสะพานบรรจบกันที่บ้านสะพานหันเชื่อมไปฝั่ง ต.ไพศาล ที่ปรากฏเสาหลักหินอีกด้วย

ร่องรอยคันดินเชื่อมโคก

จากการสำรวจพบที่ปรากฏชัดเจนประมาณสองจุดหลัก คือ ทางทิศใต้ฟากตะวันตกหมู่บ้านตาเจียดยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเชื่อมกับโคกหมอสุด (โคกหมุดช้าง) หรือที่เลี้ยงช้าง ผูกช้าง มีร่องรอยแอ่งกะทะอยู่หลายบริเวณทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ของโคกหมอสุด ปัจจุบันกลายเป็นไร่และนาชาวบ้านไปแล้ว และที่โคกหมอสุดพบว่ามีก้อนหินที่เป็นหินกรวด หินศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เคยมีการพบโครงกระดูกโดยบังเอิญในระหว่างการขุดตอไม้เตรียมดินปลูกพืชในเขตป่าชุมชนหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ เมื่อปี 2540 โดยนายสายรัตน์ หวังทางมี ที่มีขนาด 7 ศอก อยู่ในโลงศิลามีสภาพเป็นรูปโครงกระดูกแต่กลายเป็นผงที่ย่อยสลายแล้ว ยังพบเครื่องใช้โบราณประเภทเครื่องมือการเกษตร เคียวเกี่ยวข้าวขนาดใหญ่ยาวประมาณเกือบเมตร ตะไบเหล็กขนาดใหญ่ 1 ชิ้น รวมเป็น 2 ชิ้น สภาพอิฐหินทรายที่ใช้ในทำที่บรรจุศพคนตายมีขนาดใหญ่ กะเทาะก้อนอิฐดูปรากฏว่าข้างในมีเศษแกลบข้าวที่มีขนาดเม็ดใหญ่สภาพสดใหม่ ใหญ่อ้วนยาวกว่าพันธุ์ข้าวปัจจุบัน คาดกันว่าบริเวณโคกหมอสุดน่าจะเป็นสถานที่มีการก่อสร้างถาวรวัตถุ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนโบราณมาก่อน เพราะเคยมีนักขุดหาของเก่า และชาวบ้านขุดพบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเหล็กใช้ในการล่าสัตว์ ทำการเกษตร ขวานหินโบราณ เทวรูปและเครื่องทองสัมฤทธิ์ บางครั้งชาวบ้านไปทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ก็พบเห็นโดยบังเอิญสม่ำเสมอ และถนนคันดินเดิมยังเชื่อมต่อไปยังหนองกกปัจจุบันเริ่มหายไปบ้างแล้วแต่ยังพอสามารถเห็นร่องรอยได้อยู่ สันนิษฐานว่านอกจากจะเป็นคันดินเชื่อมเป็นทางคมนาคมแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นระบบชลประทานแบบเก่า หรือทำนบกักน้ำอีกด้วย สาเหตุเพราะว่ามีคันดินขนาดใหญ่และสูงทอดตัวในแนวตะวันออกกับตะวันตกเชื่อมระหว่างโคกทั้งสอง ตรงระหว่างกลางก็เป็นลำห้วยร่องน้ำขนาดเล็กมีสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ”ดบกุมพะเนง” หรือป่าทาม พื้นที่มีสภาพเป็นแอ่งอยู่ระหว่างกลางด้วย

จุดที่สองพบที่บริเวณบ้านทุ่งมนตะวันออกเป็นถนนคันดินที่ปรากฏร่องรอยที่พอสังเกตได้และบางส่วนก็ได้มีการพัฒนาทำถนนสร้างทับถนนคันดินเดิม คือที่เชื่อมระหว่างทุ่งมนตะวันออกไปยังโคกตาครึกประมาณ 500 เมตรและจากโคกตาครึกไปโคกยายเรืองประมาณ 500 เมตร และจากโคกตาครึกไปโคกอัจแดก อีกประมาณ 800 เมตร

ปราสาทหินศิลาแลง / บาราย

ปราสาทหินศิลาแลงบ้านทุ่งมน จากการสัมภาษณ์ ผู้เฒ่า ผู้รู้ในชุมชนพบว่าที่โคกตาครึกเคยเป็นปราสาทหินศิลาแลง สภาพปัจจุบันได้ถูกนักลักลอบขุดหาของเก่าทำลายไปหมดแล้ว โดยการใช้ช้างฉุดลากทำลายรื้อหาของเก่า และขุดเจาะของโบราณพร้อมทั้งขนย้ายก้อนหินปราสาทออกไปหมดราวประมาณ พ.ศ 2512 – 2518 บริเวณนี้มีการขุดพบเครื่องใช้สอย หม้อ ไห ครกศิลาโบราณที่สูงประมาณ 50 ซม. เส้นรอบวงปากครกลึก กว้างประมาณ 1 ศอก สากยาวประมาณ 1 ช่วงแขน เงิน เครื่องประดับโบราณลักษณะปราสาทตามคำบอกเล่าพบว่าปราสาทแบ่งเป็นสองชั้น สูงประมาณ 3 เมตร ฐานยาวประมาณ 12 เมตร ฐานกว้างประมาณ 6 เมตร มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก และมีทางตรงกันในทิศตรงข้ามคือทิศตะวันตก และภายในปราสาทด้านในทางด้านทิศใต้เคยมีการขุดลงไปประมาณ 1 เมตรพบว่ามีบันไดลึกลงไปตรงหลุมประมาณห้าขั้น พบโครงกระดูก เครื่องใช้สอยประเภท หม้อ ไห เงินโบราณ ฯลฯ เป็นต้นบริเวณดังกล่าวเยื้องไปทางทิศใต้ประมาณ 50 เมตร พบสระโบราณ หรือคาดว่าน่าจะเป็นบาราย อดีตลึกประมาณ 3 เมตรจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ปัจจุบันกลายสภาพเป็นที่นาลึกประมาณ 1 เมตรยังปรากฏร่องรอยของสระคันดินเดิมอยู่ และพบอีกหนึ่งสระห่างจากสระลูกใหญ่ประมาณ 30 เมตร มีขนาดเล็กกว่าห่างจากเนินปราสาทหินศิลาแลงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ระยะห่างประมาณ 50 เมตร ห่างจากฐานที่ตั้งปราสาททางทิศตะวันตกประมาณ50-100 เมตรพบลำห้วยตาแบนหรือตาปุดปรากฏอยู่ทราบมาว่าอดีตกว้างถึง 2 วา ลึก 1-2 วา ในยามหน้าแล้งก็จะเป็นบ่อน้ำที่ใส ปัจจุบันเป็นร่องน้ำขนาดเล็กเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน

แหล่งถลุงแร่-เหล็ก

ชุมชนโบราณบ้านทุ่งมน ในการศึกษาและสำรวจของทีมคณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนยังค้นพบหลักฐานแหล่งถลุงเหล็กโบราณตามเนินโคกต่าง ๆ มากมาย แสดงให้เห็นว่าชุมชนบ้านทุ่งมนมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล แหล่งที่พบการถลุงเหล็ก ตามลักษณะทั่วไปชัดเจนปรากฏการทับถมของขี้แร่ (Slag) เป็นกอง ๆ ในเขตบริเวณที่โคกใกล้ริมน้ำลำห้วยชีว์น้อย และลำห้วยสาขาขนาดเล็กครอบคลุมบริเวณป่ากำไสจาน และที่ดินทำกินของชาวบ้าน เช่น 1.ที่หนองขุนแก้ว ปรากฏขี้แร่ (Slag) อยู่ห่างลำห้วยชีว์น้อยประมาณ 20-50 เมตร และ2.บริเวณฝายยางบ้านสะพานหันที่มีบางส่วนได้ถูกทำลายหลักฐานการถลุงเหล็ก จากการก่อสร้างฝายยางและยังมีบางส่วนปรากฏหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งอยู่ห่างจากกลุ่มเสาหลักศิลาบริเวณโคกวัดบ้านสะพานหันประมาณ 1 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังพบได้ที่ 3.ริมหนองกกที่เป็นรอยต่อของลำห้วยโอก็วลที่ไหลไปบรรจบลำชีว์น้อยซึ่งเป็นที่มีถนนโบราณเชื่อมไปบ้านสะพานหัน และมีคันดินโบราณเชื่อมกับโคกหมอสุด จากคำบอกเล่าของแม่อวด ได้ทุกทาง 4.พบว่าตรงบริเวณที่นาหรือป่าหัวแรด ตาแยะ ยายาไร เถาะพูนซึ่งเป็นตายายของแม่อวดเล่าให้ฟังพบว่ามีอุปกรณ์ถลุงเหล็กเช่น เตาสูบ ท่อนเหล็ก ปัจจุบันพบเพียงขี้เหล็ก (Slag) ปรากฏในที่นา และที่หนองน้ำสวายซอ ป่าจลีก 5.บริเวณเนินโคกอัจแดก (“ภาษาถิ่นแปลว่าขี้เหล็ก”) ที่มีถนนคันดินโบราณเชื่อมโคกตาครึกประมาณ 800 เมตร ก็ปรากฏพบเนินขี้เหล็ก (Slag) สูงห่างจากลำห้วยตาปุดประมาณ 20 เมตร ซึ่งอดีตประมาณ 40 ปีที่แล้วกว้างประมาณ 2 วา ลึกประมาณ 1-2 วา ปัจจุบันเป็นร่องน้ำขนาดเล็กและเป็นลำห้วยสาขาของลำห้วยโอก็วล บริเวณนี้ยังเป็นถนนคันดินเชื่อมไปบ้านตาปาง ตำบลสมุด บริเวณนี้เคยมีการขุดพบเครื่องใช้ เครื่องประดับ แหวนทอง ทองเหลือง พระ เศษอิฐ หินกรวดกระจายไปทั่ว

แหล่งค้นพบหลักฐานทางวัตถุโบราณ เครื่องใช้สอยโบราณ

มีการขุดพบหลักฐานทางวัตถุโบราณกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณป่ากำไสจาน ริมลำน้ำชีว์น้อย ลำห้วยสาขารอบ ๆ ป่ากำไสจาน โดยเฉพาะโคกต่าง ๆ เช่น โคกหมอสุด โคกวัด โคกตาครึก โคกอัจแดก โคกตาอินทร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ที่ขุดพบโดยบังเอิญ หรือการถูกลักลอบขุดจากนักล่าของเก่าวัตถุโบราณ มักจะพบเงินตราแลกเปลี่ยน เทวรูป พระ เครื่องทองสัมฤทธิ์ เครื่องใช้ ถ้วย โถ ชาม เครื่องมือการเกษตรทั้งที่เป็น เครื่องมือหิน เครื่องมือเหล็กที่เกิดจากการถลุงและตีซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง ที่จะมีสภาพลอกล่อนเป็นชั้น ๆ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปขายให้กับนายทุน และชาวบ้านที่มีความกลัว อาถรรพ์ ก็นำไปไว้ที่วัด และขายให้กับหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ นำเก็บไปไว้ที่วัดป่าช้าและที่วัดเพชรบุรี และวัดอุทุมพรในสมัยหลวงปู่ริม รัตนมุนี เป็นต้น

บางส่วนที่ชาวบ้านขุดพบก็เก็บไว้เป็นความลับที่สำรวจพบที่ถ่ายรูปไว้ได้ ที่ขุดพบโดยบังเอิญเมื่อปี 2532 บริเวณขึ้นไปทางทิศเหนือของโรงเรียนทุ่งมนประมาณ 1-2 กิโลเมตร พบเครื่องเคลือบสีน้ำตาลแก่ สีเหลืองอ่อน 5 ชิ้น มีขนาดและชนิดต่าง ๆ กันตั้งแต่ไหขนาดใหญ่ คนโท มีฝาปิดด้วยหินทรายแต่งเป็นฝาปิดเอาไว้ มีไหใบหนึ่งขนาดเล็กกว่าสภาพสมบูรณ์ เจ้าของเล่าว่าเมื่อเปิดออก พบเครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องมือล่าสัตว์ เครื่องใช้ประจำตัว ตอนเปิดออกมีสภาพใหม่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก พอผ่านไปไม่นานก็กลายสภาพเป็นสนิมเกาะกินเนื้อเหล็กและมีสภาพล่อนออกเป็นชั้น ๆ แต่ก็เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี